การสร้างต้นแบบระบบ (prototype) ฉบับเร่งด่วน
Explicit Knowledge เรื่อง “การสร้างต้นแบบระบบ (prototype) ฉบับเร่งด่วน”
จัดทำโดย นางสาวกิตินันท์ หุ่นดี ฝ่ายพัฒนาระบบ
ที่มา/ประเด็นปัญหา
ในการพัฒนาระบบเมื่อเราเก็บความต้องการของระบบเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มต้นการพัฒนาระบบ เราควรจัดทำต้นแบบ (prototype) สำหรับนำเสนอให้ผู้ใช้งานเห็นกระบวนการและรูปแบบของการใช้งานระบบก่อน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้งานได้เห็นต้นแบบที่เราได้นำเสนอทำให้ผู้ใช้งาน คิดเงื่อนไข หรือความต้องการได้มากขึ้น และยังทำให้ผู้ใช้งานกับผู้พัฒนาระบบเข้าใจขั้นตอนการทำงานที่ตรงกัน ซึ่งการจัดทำต้นแบบนั้น อาจจะไม่ได้นำมาใช้ในการพัฒนาระบบจริงก็ได้ เนื่องจากเมื่อผู้ใช้งานเห็นหน้าจอ หรือ กระบวนการที่เราได้นำเสนอต้นแบบไปนั้น มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติม หรือ เมื่อเราได้เริ่มพัฒนาไปแล้วผู้พัฒนาระบบเห็นว่า หน้าจอที่ได้ทำเป็นต้นแบบไว้นั้น ใช้งานยากเกินไป หรือ มีแนวทางที่จะทำให้การใช้งานง่ายขึ้น หรือ ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ตามที่ออกแบบไว้ เป็นต้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้
ดังนั้น ในการพัฒนาต้นแบบ เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาต้นแบบให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบต่อได้ แต่เราทำเพื่อนำเสนอให้กับผู้ใช้งานได้เห็นภาพ กระบวนการทำงานที่เราจะพัฒนาระบบให้กับผู้ใช้งาน และควรมีการตกลงกันระหว่างผู้ใช้งานกับผู้พัฒนาระบบเกี่ยวกับระยะเวลาสำหรับการปรับแก้ก่อนจะพัฒนาระบบจริง เพราะไม่เช่นนั้นผู้ใช้งานก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ทำให้พัฒนาระบบไม่สำเร็จ หรือทันตามระยะเวลาที่กำหนดได้ แต่ถ้าระบบที่เราพัฒนาไม่เร่งด่วนมากก็สามารถจัดทำต้นแบบให้สามารถนำไปพัฒนาต่อได้เลยก็ทำให้สามารถพัฒนาระบบได้เร็วขึ้น
แนวทางการพัฒนาต้นแบบระบบ
- ประชุมเก็บความต้องการให้เข้าใจ
การประชุมเก็บความต้องการข้อมูลที่ควรทราบเพื่อนำมาพัฒนาต้นแบบมีดังนี้
- กลุ่มของผู้ใช้งานระบบ เพื่อเราจะได้นำมาจัดการแบ่งเมนูให้ตรงกับแต่ละกลุ่มของผู้ใช้งานระบบ
- กระบวนการทำงานของแต่ละกลุ่มของผู้ใช้งานระบบ เพื่อเราจะได้ออกแบบหน้าจอได้ถูกต้องตามกระบวนการ
- นำมาวาดใส่กระดาษ หรือโปรแกรมวาดภาพ หรือเครื่องมืออื่น ๆ แบบคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพมาขึ้น
- นำต้นแบบหน้าจอที่ได้วาดให้ผู้ใช้งานดูอีกครั้ง เพื่อยืนยันกระบวนการทำงานให้เข้าใจตรงกัน
- เลือกโครงของระบบ ในแบบที่เราถนัดที่สุด
- จัดการติดตั้งโครงของระบบให้เรียบร้อย
- วิเคราะห์หน้าจอต่าง ๆ ที่เราได้วาดใส่กระดาษไว้ โดยเลือกหน้าจอที่เคยมีในระบบอื่น ๆ ที่โครงสร้างเดียวกัน และตรงกับหน้าจอที่เราได้ออกแบบไว้ ถ้าเป็นระบบที่เราเคยพัฒนา ก็คัดลอกไฟล์มาเลย ถ้าเป็นระบบที่เราไม่ได้พัฒนา แนะนำให้คลิกขวา view source แล้วคัดลอกโค้ดมา
ตัวอย่างระบบที่ได้จัดทำต้นแบบ
ระบบประเมิน KPI (ประมาณ 10 หน้าจอ ใช้เวลา 1–2 วัน)
การแบ่งกลุ่มผู้ใช้งาน และ แยกเมนู
การวาดหน้าจอ ตัวอย่างนี้เป็นการวาดในโปรแกรม microsoft word
ตัวอย่างหน้าจอที่ได้พัฒนา
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ที่ได้จัดทำต้นแบบระบบ
พัฒนาต้นแบบระบบโดยเครื่องมือต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาโปรแกรม
ข้อดี
- ผู้ที่ไม่ถนัดการเขียนโปรแกรมสามารถทำได้
- ออกแบบได้สวยงามตรงตามที่เราต้องการ
ข้อเสีย
- ผู้ใช้จะเห็นภาพไม่ชัดเท่าไร
- เมื่อนำไปพัฒนาจริงอาจจะไม่สามารถเขียนได้ตรงตามที่เราออกแบบไว้
พัฒนาต้นแบบระบบโดยพัฒนาโปรแกรม
ข้อดี
ผู้ใช้สามารถเห็นภาพได้มากกว่า โดยเราสามารถคลิกตามกระบวนการทำงานได้เหมือนจริงมากกว่า
ข้อเสีย
ผู้ที่ไม่ถนัดการเขียนโปรแกรมจะทำได้ยาก และเสียเวลามากกว่า
Tag:prototype, ต้นแบบระบบ